วันเสาร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ประเพณีแห่ผีตาโขน




1) ประวัติความเป็นมาและความสำคัญ


              ประเพณีการแห่ผีตาโขน เป็นขบวนแห่รวมอยู่ในงานบุญพระเวส หรือภาคกลางเรียกว่า เทศน์มหาชาติ และงานบุญบั้งไฟของภาคอีสาน โดยที่เฉพาะอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ผีตาโขนจะสวมหน้ากากที่ทำจากวัสดุหาง่ายในท้องถิ่น เช่น หวดนึ่งข้าวเหนียว ก้านมะพร้าว ตกแต่งระบายสี เขียนหน้าตาให้น่ากลัว แต่งกายโดยใช้เศษผ้ามาตัดเย็บ มีอุปกรณ์ต่าง ๆ กระป๋อง กระดึงแขวน แห่กันอย่างสนุกสนานในงานบุญพระเวส

           ตามตำนานประเพณีผีตาโขน เล่าว่า ริมฝั่งแม่น้ำหมัน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ซึ่งมีพระธาตุเจดีย์ สองรักตั้งอยู่ เป็นที่สถิตของดวงวิญญาณชายหญิงคู่หนึ่งซึ่งรักกันมาก แต่ถูกผู้ใหญ่กีดกันทั้งสองจึงหนีเข้าป่าไปซ่อตัวอยู่ภายในอุโมงค์ ต่อมาได้เสียชีวิตทั้งคู่ ชาวบ้านเชื่อกันว่า ดวงวิญญาณของคนทั้งคู่ไม่ได้ไปผุดไปเกิดที่ไหน ยังคงเฝ้าดูแลและรักษาองค์พระธาตุศรีสองรักแห่งนี้อยู่ตลอดเวลา ปรากฏเป็นเจ้าพ่อกวน และเจ้าแม่เทียม ที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือมาก เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้าคนที่ตายไปดวงวิญญาณก็จะไปขอเป็นบริวารแก่เจ้าพ่อกวน และเจ้าแม่เทียมมากขึ้น จึงเชื่อกันว่าปู่ย่าตายาย และพ่อแม่ของพวกตนก็ไปอยู่ที่นั่นด้วย ครั้นเมื่อถึงเทศกาลบุญพระเวส ซึ่งเป็นเทศกาลทำบุญอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ ชาวบ้านเชื่อว่า เมื่อมีบุญพระเวสบรรดาผีทั้งหลายก็จะออกมาแห่ขบวนกองบุญหรือมารับส่วนบุญด้วยความดีใจ ผู้คนจึงมีการแต่งกายให้เป็นผี เมื่อมีการแห่ “พระอุปคุต” เป็นการแสดงออกทางกายให้รู้ว่าผีทั้งหลายกำลังได้รับการต้อนรับและได้รับส่วนบุญ ส่วนกุศลแล้ว



2) วิธีปฏิบัติและพิธีกรรม


      2.1) การแต่งตัวและลักษณะหน้าตาของผีตาโขน ผู้ที่จะมาเป็นผีตาโขนนั้น ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยรุ่นที่ชอบความสนุกสนาน จะแต่งกายเป็นผีแบบต่าง ๆ ผีทุกตัวต้องสวมหน้ากากที่ทำด้วยหวดนึ่งข้าวเหนียวสานด้วยไม้ไผ่หักพับขึ้นทำเป็นหมวกนำมาเย็บต่อกับส่วนโคนของก้านมะพร้าวซึ่งถูกถางให้เป็นหน้ากากผี ทาตกแต่งด้วยสีน้ำมัน เจาะรูให้เห็นดวงตา ช่องปากข้าง เติมจมูกให้ยาวคล้ายงวงช้างหรือปีกค้างคาว ส่วนเครื่องแต่งตัวส่วนใหญ่จะใช้เศษผ้าที่เหลือใช้มาเย็บต่อกันให้เป็นผืนยาวใหญ่ บางคนก็เอามุ้ง ผ้าปูที่นอน หรือผ้าห่มเก่า ๆ ขาด ๆ มาคลุมร่างกายเพื่อปกปิดรูปร่าง ที่แท้จริง จนไม่ทราบว่าใครคือ ผู้เล่นเป็นผีอยู่ข้างใน ทำให้เกิดความรู้สึกตื่นเต้นสนุกสนานการแต่งตัวของผีตาโขนจะเน้นความน่ากลัว แต่วิธีการเดิน การเล่น การเต้นตลอดจนการแสดงต่าง ๆ จะน่าดูมาก ทำให้บรรยากาศของงานเข้มข้น มีสีสันตื่นเต้น ผีบางตัวอาจมีกระป๋องหรืออุปกรณ์ผูกขาบ้าง ผูกเอวบ้าง เวลาเดินไปก็เต้นไป ส่ายเอวส่ายตะโพกไป ทำให้เกิดเสียงดัง“ป๋องแป๋ง ๆ” สร้างตื่นเต้นให้แก่ตนเอง พรรคพวก และคนดูที่มาร่วมงาน

      2.2) การประกอบพิธีกรรม ตามประเพณีก่อนที่จะมีการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆจะต้องอัญเชิญดวงวิญญาณของเจ้าพ่อกวน เจ้าแม่เทียม แสน (ผีรับใช้เจ้าพ่อกวน) และนางแต่ง (ผีรับใช้เจ้าแม่เทียม) มาเข้าทรง เรียกคนที่เจ้าเข้าสิงสถิตว่า “คนทรง” เพื่อให้มารับรู้ และเป็นผู้นำในการทำพิธีพิธีนี้มักจะทำหลังจากงานนมัสการพระธาตุศรีสองรักแล้ว ในระหว่างที่ทำพิธีชาวบ้านที่มาร่วมพิธีมักจะถามเรื่องราวหรือปัญหาต่าง ๆ เช่น การประกอบอาชีพ ฝนฟ้าจะตกต้องตามฤดูกาลหรือไม่ และที่ถามกันมากที่สุดคือ ความยากดีมีจน เป็นต้น เมื่อการซักถามพูดคุยกับผีเรียบร้อยแล้วก็จะเข้าสู่พิธีงานบุญพระเวส หรืองานเทศก์มหาชาติ ซึ่งจะจัดกัน 3 วัน 3 คืน ทั้งนี้ จะต้องเตรียมเครื่องสังการะต่าง ๆ ให้พร้อม เช่น ดอกบัวหลวง ดอกบัวน้อย ดอกผักตบ ปืนใหญ่ ปืนน้อย ดาบใหญ่ ดาบเล็กหอก กระบอง ฉัตร พัดโบก ธงใหญ่ ตุ่มน้ำใบใหญ่ จอกแหน หญ้าไทร กุ้ง หอย ปู ปลา ดอกไม้ ธูปเทียนเป็นต้น
         - งานวันแรก เป็นวันเริ่มงานพิธี พวกแสน และคณะศรัทธาทั้งหลายจะช่วยกันจัดสร้างหอพระอุปคุต และทำกระทงเล็ก จำนวน 4 ใบ นำไปวางไว้ตามทิศทั้งสี่ บนหอหลวงมีร่มขนาดใหญ่กางกั้นไว้ ถือเป็นฤกษ์พิธี
        - วันที่สอง เริ่มตั้งแต่เวลา 04.00 – 05.00 น. เป็นการทำพิธีอัญเชิญพระอุปคุต ซึ่งสถิตอยู่ในแม่น้ำหมันขึ้นมาใส่พานแล้วตั้งขบวนแห่ไปยังหอพระอุปคุต พวกผีตาโขนก็จะออกมาร่วมขบวนด้วย มีการบรรเลงและตีเครื่องดนตรีพื้นเมืองครื้นเครงไปตลอดทาง ในขณะที่แสนจะทำพิธีเบิกฤกษ์เบิกชัยที่หอพระอุปคุต จากนั้นจะอัญเชิญพระอุปคุตให้เคลื่อนขบวนแห่ไปยังโรงพิธีกรรม เพื่อทำพิธีบายศรีสู่ขวัญ เมื่อเสร็จพิธีบายศรีสู่ขวัญ ก็จะทำพิธีแห่ขบวนพระอุปคุตไปยังวัดโพนชัย ผีตาโขนก็จะทยอยกันเข้าร่วมขบวนทั้งเล่นทั้งเต้นและหยอกล้อกับคนดูอย่างสนุกสนานตอนบ่าย จะมีพิธีแห่พระเวสสันดรไปวัดโพนชัย ในขบวนจะประกอบด้วยแสนผู้ถือพานบายศรีนำหน้าขบวนแห่พระพุทธรูปเป็นสัญลักษณ์แทนพระเวสสันดร พระสงฆ์ 4 รูป เจ้าพ่อกวน เจ้าแม่เทียม บริวารของเจ้าพ่อกวน และเจ้าแม่เทียม และขบวนผีตาโขน ที่ร้องเล่นและบรรเลงเครื่องดนตรีพื้นเมืองอย่างสนุกสนานครึกครื้นไปตลอดทาง
         - วันที่สาม เป็นวันงานประเพณีการทำบุญพระเวส หรือการทำบุญเทศน์มหาชาติพระเวสสันดรชาดก ทุกคนจะเข้าวัดทำบุญใส่บาตร เลี้ยงอาหารเช้า และเพลแก่พระสงฆ์ ฟังเทศก์มหาชาติ ในวันนี้จะไม่มีการเล่นผีตาโขนประเพณีผีตาโขน เป็นการแสดงล้อเลียนบรรดาผีทั้งหลายที่จะออกมารับส่วนบุญในงานบุญพระเวส และเป็นการแสดงความเคารพสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพระธาตุศรีสองรัก ซึ่งเชื่อกันว่า ผีในพระธาตุนั้นมีวิญญาณของปู่ย่า ตายาย และพ่อแม่ของตนที่ตายไปแล้วอาศัยอยู่ที่นั่นด้วย จึงเป็นเหตุให้ประเพณีดังกล่าวยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบันนี้ เนื่องจากเชื่อว่าเป็นการบูชา และทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติของตนด้วยนั่นเอง



สร้างโดย : นางสาวเรวดี บุญช่วย  รหัสนักศึกษา 115410507318-7
                   นายศุภกิจ มุสิกภาชน์ รหัสนักศึกษา 115410507249-4
ศธ.4/54-B


แหล่งอ้างอิง :หนังสือเรียนสาระการพัฒนาสังคม รายวิชาเลือก การอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีในภาคต่าง ๆ    รหัส สค 12009 หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551
สำหรับคนไทยในต่างประเทศ